การศึกษา

“โรงเรียนวันเสาร์”การลงทุนกับเด็กในแบบ“ชัชชาติ”

“โรงเรียนวันเสาร์”การลงทุนกับเด็กในแบบ“ชัชชาติ”

โครงการโรงเรียนวันเสาร์ เกิดจากแนวคิดที่ว่า ในวันเสาร์-อาทิตย์ พื้นที่ในโรงเรียนต่างๆ ของ กทม.ยังว่างอีกมาก ทำไมไม่เปิดใช้งานให้เป็นประโยชน์ จึงเป็นที่มาในการร่วมมือกันระหว่าง กทม. กับ มูลนิธิ Saturday School มีจุดประสงค์ส่งเสริมการศึกษานอกเวลาช่วงเริ่มแรก 100 ห้องเรียนของโรงเรียนสังกัดกทม. จัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาการและทักษะชีวิต ตามความสนใจ ทั้งในเวลา และนอกเวลาเรียน เพื่อพัฒนาการศึกษาของเยาวชน

และเมื่อเร็วๆ นี้ เพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศรับสมัครครูอาสาจำนวนมาก ตามโครงการ Saturday School หรือโรงเรียนวันเสาร์ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับการศึกษาของเยาวชน โดยเน้นที่ความถนัดและความสามารถของแต่ละคน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดถึงที่มาของโครงการนี้ว่า การศึกษาในโรงเรียนเป็นหลักสูตรที่สำคัญ แต่การเสริมความรู้นอกห้องเรียนก็มีความสำคัญเช่นกัน ปัจจุบันมีอาสาสมัครหลายท่านสนใจให้ความรู้ในสิ่งที่ตนเองถนัด และกทม.กำลังขยายผลให้โรงเรียนต่างๆในสังกัด กทม. เป็นโรงเรียนเชิงนวัตกรรมใหม่ คือเสริมความรู้และทักษะชีวิตในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาหลังเลิกเรียน โดยครูอาสาเป็นผู้เข้ามาช่วยสอน ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กว้างขวางขึ้น

ข่าวการศึกษา

การแลกเปลี่ยนความรู้กว้างขวางขึ้น จะทำภายใต้หลักการ 4 ข้อ คือ

1.เป็นวิชาไม่มีสอนในห้องเรียนหลัก เช่น การผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ การทำอาหาร การเล่นดนตรี กีฬา และภาษา ภายใต้การเรียนที่เน้นความสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมทั้งในการเรียนร่วมกับนักเรียนและการสอนสิ่งที่ตนถนัด สำหรับการสอนของครูอาสาต้องสอนต่อเนื่องอย่างน้อย 10 สัปดาห์ โดยปกติวิชาหนึ่งใช้เวลาเรียนประมาณ 3 ชั่วโมง

2.เปิดวิชาตามความต้องการของนักเรียนแต่ละโรงเรียน ผ่านการสำรวจของคณะกรรมการสรรหาและอบรมประชาชนที่ กทม.จัดตั้งขึ้น โดยเน้นผู้ที่มีความรู้ตรงกับความต้องการของโรงเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสอนนักเรียนอย่างต่อเนื่อง 10 สัปดาห์ รวมถึงสร้างสื่อการเรียนรู้ให้ครูนำไปสอนต่อได้

3.ต่อยอดวิชาเลือกเสรีในโรงเรียน โดยนำความต้องการของนักเรียนแต่ละโรงเรียนไปประสานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ เพื่อส่งตัวแทนมาร่วมกันสร้างหลักสูตรให้ครูนำไปสอนนักเรียนในหลักสูตรหลักภายใต้วิชาเลือกเสรี โดยสามารถจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์อยู่ที่บ้านได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความสมัครใจ

4.เปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญให้เป็นครู โดยการร่วมมือกับเอกชนที่มีจุดเด่นต่างๆ เช่น การขาย การสร้างรายได้รูปแบบต่างๆ มาช่วยสนับสนุนการสอนของครูในโรงเรียนและช่วยออกแบบสื่อการเรียนหลักและเสริมทักษะในโลกความเป็นจริงประกอบการเรียนเพื่อให้นักเรียนเห็นภาพมากขึ้น

ทางด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดถึงโครงการนี้ว่า หัวใจหลักคือการเรียนรู้ที่ออกแบบได้ มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนไปตามผู้เรียน เพื่อให้เด็กได้พบเจอความหลากหลายในชีวิตจริงมากขึ้น บางครั้งอาจสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งแตกต่างกันไป โครงการนี้จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกับคนที่สนใจเหมือนกัน รวมถึงได้เรียนรู้กับผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาจมีส่วนจุดประกายให้นักเรียนสนใจค้นคว้าเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีครูอาสาที่มีความรู้ความสามารถหลากหลายที่พร้อมให้คำปรึกษาได้โดยตรง หรือปรึกษาจากครูในโรงเรียนต่อไปได้ หลังจากที่ครูได้รับการถ่ายทอดความรู้และร่วมสร้างหลักสูตรกับผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวแล้ว นี่จึงเป็นความรู้ที่สามารถถ่ายทอดต่อไม่รู้จบ โดยหลักแล้วไม่จำเป็นต้องมาที่โรงเรียนในวันเสาร์อาทิตย์ อาจเรียนออนไลน์หรือในเวลาว่างช่วงไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบจากความต้องการของผู้เรียน

…โครงการโรงเรียนวันเสาร์ ถูกตั้งเป้าไว้ที่ 100 โรงเรียน ขณะนี้มีมากกว่า 54 โรงเรียนที่กำลังดำเนินการอยู่ กทม.จึงต้องการเปิดรับสมัครครูอาสาเพิ่ม ถือเป็นสีสันใหม่ของโรงเรียนในสังกัด กทม.โดยเฉพาะเด็กหลายคนที่ขาดโอกาสไปเรียนวิชาเสริมตามที่ตนเองสนใจเนื่องจากมีราคาแพงประกอบกับฐานะทางบ้านยากจน โครงการนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กโดยตรงตามวิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มองว่าการลงทุนกับเด็กคุ้มค่ากว่าการก่อสร้างใดๆ เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กจะเติบโตไปเป็นผู้พัฒนาเมืองในอนาคต.

ติดตามข่าวการศึกษาและข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : เล็งเสนอ ‘วิษณุ’ ปรับแผนการศึกษาแห่งชาติ