เด็ก

ภูมิแพ้ในเด็ก อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง

ภูมิแพ้ในเด็ก อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวัง

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่มีลูกน้อยเป็นภูมิแพ้ อาจมีความกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นจะมีอันตรายร้ายแรงใดๆ หรือเปล่า และมีอาการแบบไหนที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปจนลูกโตหรือไม่ วันนี้โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จึงขอนำความรู้เรื่องโรคภูมิแพ้ในเด็กมาฝาก ทุกๆ ท่านจะได้เข้าใจและรู้วิธีสังเกตอาการ เพื่อการพาลูกน้อยไปพบแพทย์

เด็ก

ภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร?

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่ร่างกายไวต่อสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ โดยอาการของโรคจะเกิดเมื่อร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นผ่านทางการกิน การสูดดม การทา หรือการฉีด หลังจากนั้นสารก่อภูมิแพ้จะไปกระตุ้นกลไกระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงาน ทำให้เกิดอาการตามระบบต่างๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคภูมิแพ้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเด็กหรือผู้ใหญ่มักคล้ายกัน แต่ที่พบบ่อยในเด็กมักแตกต่างไปตามช่วงอายุ

ภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย

โรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในเด็กสามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุ ดังนี้

  • ช่วงขวบปีแรก มักพบการแพ้อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วลิสง และภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ช่วงอายุ 2 ปีขึ้นไป มักพบโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้จมูก หรือภูมิแพ้อากาศ และโรคหืด
  • ส่วนที่พบได้ทุกช่วงอายุ เช่น โรคลมพิษ แพ้ยา หรือแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน หรือมดคันไฟ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ในเด็ก

1. พันธุกรรม :

  • หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ 50-60%
  • พ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ทั้ง 2 คน ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ 80%
  • พ่อและแม่ไม่เป็นภูมิแพ้ ลูกจะมีความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้เพียง 10% เนื่องจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน

2. สิ่งแวดล้อม : ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นสิ่งแวดล้อมตั้งแต่

  • เด็กอยู่ในครรภ์ของคุณแม่
  • ระหว่างคลอด และ
  • หลังจากคลอด

โดยที่สิ่งแวดล้อมทั้ง 3 ช่วง ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ทั้งหมด เช่น อาหารบางอย่างหรือควันบุหรี่ที่คุณแม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ วิธีการคลอด (ผ่าคลอดหรือคลอดธรรมชาติ) การได้รับสารก่อภูมิแพ้ ทั้งสารก่อภูมิแพ้ทางอาหารหรืออากาศหลังจากคลอดออกมาแล้ว ก็ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้

อาการภูมิแพ้ในเด็ก…มีอะไรบ้าง?

อาการของภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในเด็กมีมากมายหลายอาการ ซึ่งแบ่งตามระบบของร่างกายได้ดังนี้

ระบบทางเดินหายใจ: คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล เลือดกำเดาไหลบ่อย มีอาการหายใจหอบเหนื่อย หรือมีอาการไอคล้ายกับมีเสมหะในช่วงเช้า หรือมีอาการไอระหว่างออกกำลังกาย
ระบบไหลเวียนโลหิต: มีความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ หรือเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบในอาการแพ้แบบรุนแรง
ระบบทางเดินอาหาร: มีอาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด หรือท้องเสียเรื้อรัง
ระบบผิวหนัง: เป็นลมพิษ มีผื่นแห้งๆ ตามร่างกาย หรือมีผื่นตามข้อพับ บางรายอาจพบอาการผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง เช่น สัมผัสกับสารเคมี หรือสัมผัสกับสิ่งที่แพ้ ลักษณะผื่นคล้ายผดผื่นขึ้นบริเวณที่สัมผัสโดน
ระบบอื่นๆ: เช่น คันตา ระคายเคืองตา ร้องกวน หรือมีอาการซีดเรื้อรัง เป็นต้น

ทำไมตอนเด็กไม่แพ้ แต่เพิ่งมาแพ้ตอนโต

อาจเป็นเพราะในตอนเด็กยังได้รับสิ่งกระตุ้นหรือตัวกระตุ้นที่มากระตุ้นไม่มากพอ อาการจึงยังไม่แสดงออกมาหรือแสดงออกมาน้อย แต่เมื่อโตขึ้น เมื่อร่างกายได้รับการกระตุ้นจากสิ่งกระตุ้นมากพอก็จะแสดงอาการออกมา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตอนเด็กไม่มีอาการแพ้ แต่เมื่อโตขึ้นกลับมีอาการแพ้

หากมีอาการรุนแรง อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

โรคภูมิแพ้ในเด็กบางอย่าง หากปล่อยไว้ อาการของภูมิแพ้อาจเป็นการรบกวนการใช้ชีวิต เช่น ภูมิแพ้จมูก ภูมิแพ้อากาศ ที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ลมพิษขึ้นบ่อยๆ ภูมิแพ้ผิวหนังที่เป็นผิวแห้งๆ คันๆ ถ้าเป็นในเด็กเล็ก บางครั้งอาจทำให้เด็กนอนไม่ได้ ซึ่งจะเป็นการรบกวนชีวิตของเด็ก ในขณะที่การแพ้แบบรุนแรงจะมีอาการตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป โดยอาการอาจรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้

ทดสอบภูมิแพ้ง่ายๆ…ได้หลายวิธี

1. การทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวด้วยวิธีการสะกิด

แพทย์จะใช้การหยดน้ำยาที่เป็นชุดทดสอบลงไปบริเวณใต้ท้องแขนในเด็กโตและผู้ใหญ่ แต่หากเป็นเด็กเล็กมากจะทำบริเวณผิวหนังด้านหลัง จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์สะกิด สะกิดบริเวณที่มีน้ำยา และรออ่านผลประมาณ 20 นาทีหลังจากสะกิด ข้อจำกัดของการทดสอบด้วยวิธีนี้คือผู้ป่วยจะต้องงดยาแก้แพ้ชนิดกินมาอย่างน้อย 7-10 วัน

2. การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการตรวจเลือด

จะเป็นการตรวจหาแอนติบอดีชนิดแอนติบอดี E ที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้ที่เราสงสัยว่าทำให้เกิดอาการแพ้

3. การทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีอื่นๆ

การทดสอบด้วยการกิน เป็นการทดสอบในคนที่แพ้อาหารที่ก่อนหน้านี้ทำการทดสอบด้วยวิธีการสะกิดหรือตรวจเลือดแล้วยังได้ผลไม่ชัดเจน
การทดสอบการแพ้ยา ด้วยวิธีการกินหรือการฉีด
การทดสอบความไวของหลอดลมด้วยการออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็วบนสายพาน เพื่อดูว่าขณะออกกำลังกายมีการกระตุ้นให้เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หรือโรคหอบหืดกำเริบหรือไม่

ทั้งนี้ การทดสอบภูมิแพ้ควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากแพทย์จะเป็นผู้ให้ทางเลือกในการทดสอบว่าควรทดสอบอย่างไร และควบคุมการทดสอบอย่างใกล้ชิด

การรักษาโรคภูมิแพ้ษต้องทำอย่างไร

  • กำจัดสิ่งกระตุ้นที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้ หากทราบว่ามีอาการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นใด ควรทำการกำจัด หรือหลีกเลี่ยงกับการสัมผัสตัวกระตุ้นนั้นๆ
  • การใช้ยารักษา เช่น ยาแก้แพ้ชนิดกินประเภทต่างๆ ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ ยาทาสเตียรอยด์ หรือการใช้สารชีวโมเลกุลที่เป็นยากลุ่มใหม่มาใช้ในการรักษา
  • การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการนำเอาสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้กลับเข้าไปในร่างกายทีละนิด เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งกระตุ้นนั้นขึ้นมา ใน
  • ปัจจุบันมีทั้งวิธีการฉีด การอมใต้ลิ้น และการกิน
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

ภูมิแพ้ษเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสที่จะหายขาดได้ไหม

การเกิดโรคภูมิแพ้เมื่อทำการรักษาแล้วจะมีทั้งโรคที่หายขาดได้ และไม่สามารถหายขาดได้

  • โรคภูมิแพ้ที่หายขาดได้: แพ้นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วลิสง ลมพิษ ภูมิแพ้ผิวหนัง (ส่วนใหญ่หายได้) ภูมิแพ้จากแมลงสัตว์กัดต่อย (หายจากการทำภูมิคุ้มกันบำบัด) และโรค
  • หืดที่เกิดขึ้นในเด็ก (ส่วนใหญ่หายได้)
  • โรคภูมิแพ้ที่ไม่หายขาด: ภูมิแพ้จมูก ภูมิแพ้อากาศ แพ้ยา โรคหืดในผู้ใหญ่ และภูมิแพ้ผิวหนัง (ส่วนน้อยที่จะไม่หาย)

ทั้งนี้หากพบว่าลูกน้อยมีอาการที่สงสัยว่าน่าจะเป็นเรื่องของภูมิแพ้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัด และทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะหากเกิดอาการแพ้รุนแรง การปล่อยไว้จะทำให้มีอันตรายถึงชีวิตได้

แนะนำข่าวเด็กเพิ่มเติม : 4 วิธี เลี้ยงลูกไม่ให้ติดมือถือ ลดความเสี่ยงสมาธิสั้น เอาแต่ใจ