เศรษฐศาสตร์

‘บรรยง’ ชี้โครงสร้างประเทศไทยทำให้ประเทศติดกับดักทางเศรษฐกิจและพัฒนาช้า

‘บรรยง’ ชี้โครงสร้างประเทศไทยทำให้ประเทศติดกับดักทางเศรษฐกิจและพัฒนาช้า

‘บรรยง พงษ์พานิช’ วิเคราะห์สาเหตุการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยช้าและติดกับดักนานนับ 10 ปี เนื่องจากโครงสร้างของรัฐไทยขนาดใหญ่ ไม่มีการแข่งขัน ชี้ไทยควรเร่งแก้ปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างใหม่ ใช้ดัชนี 5 ตัววัด เพื่อสร้างความมั่งคั่งและการทั่วถึง

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ประเทศไทย, ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงสาเหตุที่ประเทศไทยมีการพัฒนาช้า เนื่องจากโครงสร้างรัฐไทยมีขนาดใหญ่ มีบทบาทและอำนาจมาก ทำให้เกิดการคอร์รัปชัน หากย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2500-2555 ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาจนกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งอันดับ 3 ของอาเซียน อัตราการเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี แต่ช่วงปี 2555 – ปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 10 ปี ประเทศไทยกลับเติบโตได้เชื่องช้า มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี หรือไม่เกิน 5% ต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นเติบโตเฉลี่ย 6-10% ต่อปี

เศรษฐศาสตร์

“ประเทศญี่ปุ่นมีประชากร 130 ล้านคน มีข้าราชการเพียง 5 แสนคน ในขณะที่จำนวนประชากรไทย 67 ล้านคน ข้าราชการ 2.2 ล้านคน ทำให้การบริหารจัดการภาครัฐสูงมาก เฉพาะเงินเดือนและสวัสดิการสูงถึง 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)”

ส่วนงานที่ภาครัฐรับผิดชอบส่วนใหญ่ในประเทศเป็นแบบผูกขาด ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมักต่ำกว่าภาคเอกชน เพราะขาดการแข่งขัน เช่น บริการพื้นฐานทำโดยรัฐวิสาหกิจ งบประมาณ 50-60 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณแผ่นดิน 1 เท่าตัว รัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดก็มีกำไร แต่รัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันกับเอกชนก็ขาดทุนย่อยยับ ด้านการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐ 75% รัฐใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี ยากที่จะมีประสิทธิภาพ

บรรยงกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวควรลดทั้งบทบาท ขนาด อำนาจ พร้อมทั้งแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน เนื่องจากการแข่งขันในระบบทุนนิยมที่สมบูรณ์สามารถสร้างนวัตกรรม สร้างประโยชน์ สร้างให้มีประสิทธิภาพมากกว่าคู่แข่ง มีแรงจูงใจให้มนุษย์ทำประโยชน์

ทั้งนี้มีดัชนีสำคัญ 5 ตัว ที่ชี้วัดความมั่งคั่ง

  • ดัชนีวัดรายได้ต่อหัวต่อปี (GDP per capita)
  • ดัชนีวัดความกระจายความมั่งคั่ง (Gini Coefficient)
  • ดัชนีการเป็นประชาธิปไตย (Democracy Matrix)
  • ดัชนีการเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์ (Index of Economic Freedom)
  • ดัชนีวัดความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index)

“ประเทศไทยมีดัชนีความมั่งคั่งอันดับที่ 100 รายได้ต่อคนต่อปีอันดับที่ 100 วัดจาก 180 ประเทศทั่วโลก ถือว่าแย่มาก เมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจ ไทยระบบเศรษฐกิจใหญ่กว่าสิงคโปร์ เพราะคนมากกว่า 10 เท่า แต่รายได้น้อยกว่า 8 เท่า ส่วนดัชนีความเป็นประชาธิปไตย ก่อนที่จะมีการปฏิวัติอยู่อันดับ 70 หลังเกิดปฏิวัติอยู่ในอันดับที่ 139 ของโลก ส่วนดัชนีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์อยู่ในอันดับที่ 80 ดังนั้นต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยการเริ่มจากยอมรับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา จงเผชิญความจริงอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่มันเคยเป็น หรืออย่างที่อยากให้เป็น Face fact as it is, not as it was, or as you wish it to be

“ในปี 2566 คาดหวังว่าเราจะได้รัฐบาลที่ตระหนักรู้ถึงปัญหาพอสมควร และแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิรูป Reform ไม่ใช่การปฏิวัติ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” บรรยงกล่าว

ติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : ทองคำนิวยอร์กปิดลบ 60 เซนต์ ดอลล์แข็งค่ากดดันราคา